วัยเด็ก 0-6 ปี ถือเป็นวัยสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างนิสัยรักการอ่าน เป็นวัยสำคัญที่สุดที่เซลส์สมองจะพัฒนา และสำคัญที่สุดในการพัฒนาอารมณ์ จิตใจและนิสัย ระเบียบ วินัย รวมไปถึงอุปนิสัยและพฤติกรรมที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
การพัฒนาเด็กวัยนี้นอกจากการพัฒนาทางร่างกายด้วยอาหาร น้ำ อากาศ แล้ว “การอ่านหนังสือ” ถือเป็นสื่อที่สำคัญในการสร้างเซลส์สมอง พัฒนาอารมณ์ จิตใจ สร้างความรู้ สอนคุณธรรมจริยธรรม
แต่ในปัจจุบัน การอ่าน ของคนในชาติยังเป็นปัญหาอย่างหนัก การพยายามสร้างการอ่านให้กลายเป็นนิสัย จนติดเป็นวัฒนธรรมของคนในชาติ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เครือข่ายรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ได้นำมาถกเถียงกันในกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านการอ่าน เพื่อหาทางสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์การสร้างการอ่านให้เป็นวัฒนธรรม ด้วยหนังสือ เพื่อยื่นข้อเสนอให้แก่ภาครัฐที่มีอำนาจและงบประมาณ
ในการประชุมภาคีเครือข่ายการอ่าน ในหัวข้อ “สื่อสารให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมด้วยหนังสือเด็กปฐมวัย” เมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน 2554 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ ปิ่นเกล้าที่ผ่านมา ที่ประชุมได้สรุปถึงข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย 3 ประเด็น คือ ยุทธศาสตร์ ต้นน้ำ หนังสือที่ดีมีคุณภาพ ยุทธศาสตร์กลางน้ำ คือการนำหนังสือเพื่อเข้าให้ถึงเด็ก และยุทธศาสตร์ปลายน้ำ การรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน โดยในแต่ละยุทธศาสตร์มีรายละเอียด ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้หนังสือเด็กปฐมวัยมีคุณภาพเพื่อสร้างฐานภูมิปัญญาของสังคมไทย
1.1 กำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุนให้มีสถาบันทางวิชาการผลิตผู้สร้างสรรค์เรื่อง และผู้สร้างสรรค์ภาพหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยให้มากขึ้น
1.2 ส่งเสริมการศึกษาวิจัย และการจัดการความรู้ ที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทาง อนาคตภาพของการผลิตหนังสือ และการส่งเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัย
1.3 กำหนดนโยบายสนับสนุน ส่งเสริม องค์กร ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ให้มีศักยภาพในการผลิตหนังสือเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เพื่อตอบสนองวัย พัฒนาการทางสมอง และสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ
2. ยุทธศาสตร์การเพิ่มช่องทางและการนำหนังสือให้เข้าถึงเด็ก
2.1 กำหนดนโยบายให้ทุกครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสือเด็ก ปฐมวัยอย่างน้อย คนละ 3 เล่ม (ตามข้อตกลงจากแผนปฏิบัติโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก A World Fit for Children ขององค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ) โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางทางสังคมในพื้นที่ต่าง ๆ และกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
2.2 จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอให้โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น ฯลฯ สามารถจัดซื้อหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยและสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเข้าถึงการอ่าน
2.3 กำหนดนโยบายส่งเสริม พัฒนาให้เกิดกลไก ส่งเสริมการอ่าน เพิ่มห้องสมุด มุมหนังสือในพื้นที่บริการ พื้นที่สาธารณะอย่างหลากหลาย อาทิ โรงพยาบาล, สวนสาธารณะ, ฯลฯ และมีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน สอดคล้องกับวัยเด็กและความต้องการของครอบครัวและชุมชน
3. ยุทธศาสตร์รณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน
3.1 สนับสนุนให้เกิดสื่อมวลชนและสื่อทางเลือกต่างๆ ที่ส่งเสริมพฤติกรรมการอ่าน ทั้งรายการวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต สื่อพื้นบ้าน กิจกรรมรณรงค์ ฯลฯ
3.2 รณรงค์ ส่งเสริมให้พ่อแม่ ครอบครัว ผู้ดูแลเด็กเห็นถึงความสำคัญในการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์-6 ปี และเข้าใจถึงการเลือกสรรหนังสือเด็กที่เหมาะสมและสอดคล้องตามวัย
3.3 ส่งเสริม กำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน (ครู บรรณารักษ์ พี่เลี้ยงเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูอนุบาล – เนอสเซอรี่ นักพัฒนาชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ
แม้ภาคีเครื่อข่ายการอ่านการเรียนรู้ ทุกหน่วยงานจะยังไม่ทราบว่าเมื่อไรทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ จะได้ดำเนินการ หรือจะมีรัฐบาลชุดใดที่สนใจขับเคลื่อนให้เป็นจริง แต่ความหวังที่ทำให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมของเด็กไทยยังคงยู่อย่างเต็มเปี่ยม แม้ไม่ได้เป็นจริงในวันนี้ ก็หวังจะเห็นในวันหน้า
เพียงขอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้โปรดร่วมมือกันอย่างจริงๆ จัง ๆ อย่าปล่อยในวาระการอ่านที่เป็นวาระแห่งชาติ อยู่อย่างโดดเดี่ยว บนหิ้ง หรือ กรุงเทพมหานครแห่งการอ่าน ก็ยังมีกิจกรรมอย่างเดียวดาย บนศาลาว่าการ กทม.
เราเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมการอ่าน “สร้างได้” (ในชาตินี้) เพราะ การอ่านเป็นวัฒนธรรม ที่สร้าง “ชาติ”